ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากต่อสังคมโลกและสังคมไทย ทำให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ หรือการค้าขายนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไป โดยได้มีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการให้ง่ายต่อการซื้อขายสินค้า การเคลมสินค้า อันจะเห็นได้จากการที่ผู้ประกอบการเริ่มมีการออกเอกสาร e-Receipt แทนใบเสร็จรับเงินแบบกระดาษให้กับลูกค้ามาหลายปีแล้ว 

e-Receipt คืออะไร ทำไมใคร ๆ ต่างให้ความสนใจ

สำหรับใครที่ยังไม่ค่อยเข้าใจว่า e-Receipt คืออะไร ทำไมใคร ๆ ต่างให้ความสนใจอยากใช้งาน เรามีคำตอบมาฝากกัน โดย e-Receipt หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเอกสารหลักฐานแสดงการรับชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถออกโดยผู้ประกอบการ 2 ประเภท คือ ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) และ ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ (Special Business Tax: SBT) 

ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบการทุกคนที่สามารถออกเอกสารใบรับอิเล็กทรอนิกส์ให้กับลูกค้าได้ จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนในระบบการออกใบกำกับภาษีและใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรก่อนจึงจะสามารถออกเอกสารนี้ให้กับลูกค้าได้

ลูกค้าจะได้รับใบรับอิเล็กทรอนิกส์ก็ต่อเมื่อได้ชำระค่าสินค้าหรือบริการให้ผู้ขาย ผู้ให้เช่าซื้อสินค้า ผู้ให้บริการ โดยมีรายละเอียดอ้างอิงตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดในพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534 เรื่อง “จำนวนเงินหรือราคาที่ผู้ขาย ผู้ให้เช่าซื้อ ผู้รับเงินหรือผู้รับชำระราคาต้องออกใบรับ” ดังนี้

  1. ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการรายย่อยที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร โดยมียอดชำระแต่ละครั้งเกิน 1,000 บาทขึ้นไป
  2. ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/16 แห่งประมวลรัษฎากร โดยมียอดชำระแต่ละครั้งเกิน 500 บาทขึ้นไป
  3. ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยมียอดชำระแต่ละครั้งเกิน 100 บาทขึ้นไป
  4. ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 และ 81/1 และผู้ประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/3 แห่งประมวลรัษฎากร โดยมียอดชำระแต่ละครั้งเกิน 100 บาทขึ้นไป
e-Receipt

เมื่อรู้จักกับใบรับอิเล็กทรอนิกส์กันไปแล้ว รู้แล้วว่าจะสามารถขอเอกสารนี้ได้จากการซื้อสินค้าหรือบริการกับผู้ประกอบการประเภทใดได้บ้าง ทีนี้มาทราบถึงสาเหตุที่ใคร ๆ ให้ความสนใจใบรับอิเล็กทรอนิกส์นี้กันบ้าง กล่าวคือในปีภาษี 2567 นี้ รัฐบาลมีโครงการลดหย่อนภาษีที่ชื่อว่า “Easy e-Receipt” ซึ่งอนุญาตให้ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถนำเอาเอกสารใบกำกับภาษีและรับอิเล็กทรอนิกส์ของการซื้อสินค้าและบริการช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567 มาใช้ลดหย่อนเงินได้สุทธิสำหรับการคำนวณภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่ผู้คนอยากรู้ว่า ใบรับอิเล็กทรอนิกส์คืออะไร และต้องการใช้งานนั่นเอง

ทราบหรือไม่ว่าข้อมูลที่แสดงในใบรับอิเล็กทรอนิกส์ต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง

อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่าใบรับอิเล็กทรอนิกส์ คือ เอกสารที่ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนในระบบการออกใบกำกับภาษีและใบรับอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพาก รออกให้ลูกค้าเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้รับการชำระสินค้าหรือบริการเรียบร้อยแล้ว มักเป็นเอกสารที่ออกคู่กับใบกำกับภาษี 

สำหรับใครที่ต้องการทราบว่าเอกสาร e-Tax Invoice & e-Receipt ที่ผู้ประกอบการออกให้นั้นมีความถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ เบื้องต้นสิ่งที่ควรรู้คือ ข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต้องมีในใบกำกับภาษีเต็มรูปที่ถูกต้องตามมาตรา 86/4 ประมวลรัษฎากร ประกอบด้วย 

  1. คำว่า “ใบกำกับภาษี” 
  2. ชื่อ ที่อยู่ และเลข 13 หลักของผู้ออกใบกำกับภาษี 
  3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อ 
  4. ลำดับที่ เล่มที่ (หากมี) 
  5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าสินค้าหรือบริการ 
  6. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม 
  7. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี 
  8. ข้อความอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ได้แก่ 

8.1 สถานประกอบการของผู้ออกใบกำกับภาษี 

8.2 เลข 13 หลักของผู้ประกอบการที่จด VAT 

8.3 สถานประกอบการของผู้ซื้อที่จด VAT 

8.4 เลข 13 หลักของผู้ซื้อที่เป็นผู้ประกอบการ VAT 

8.5 สถานประกอบการตาม ภ.พ. 20 ของผู้ออกใบกำกับภาษีและของผู้ซื้อที่จด VAT เช่น สำนักงานใหญ่ และสาขาที่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างใบรับอิเล็กทรอนิกส์กับใบเสร็จรับเงินธรรมดา คือ ลายเซ็นผู้ส่งสินค้า เพราะใน ใบรับอิเล็กทรอนิกส์นั้น ผู้ประกอบการจะต้องลงนามในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งลายเซ็นดิจิทัลนี้จะถูกเข้ารหัสความปลอดภัยไว้ ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า จะต้องเปิดดูและเห็นสัญลักษณ์ผ่านโปรแกรม เช่น โปรแกรมสำหรับเปิดไฟล์ PDF หรือ XML เท่านั้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังต้องมีหน้าที่ส่งนำส่งไฟล์ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ให้กรมสรรพากรในรูปแบบไฟล์ XML อีกด้วย

สำหรับข้อมูลใบรับอิเล็กทรอนิกส์ที่นำมาฝากนี้ หวังว่าจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ช่วยให้สามารถเข้าร่วมโครงการลดหย่อนภาษีปี 2567 ได้อย่างมีความเข้าใจมากขึ้น ทั้งนี้อย่าลืมว่าเอกสารที่จะนำมาใช้ในโครงการจะต้องมีความถูกต้อง และออกโดยผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรเท่านั้น อย่าลืมตรวจสอบข้อมูลใบรับอิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกต้องทุกครั้ง เพื่อไม่ให้พลาดกับการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในครั้งนี้